วันวิสาขบูชา วันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน กับสิ่งแรก
และสิ่งสุดท้ายในสมัยพุทธกาล |
|
|
วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะหรือเดือน
๖ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้และเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
ซึ่งพุทธศาสนิกชนถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งอีกวันหนึ่งทางพุทธศาสนา ด้วยเหตุการณ์สำคัญๆที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์ได้บังเกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกันอย่างน่ามหัศจรรย์
กล่าวคือ
๑.เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ
ที่ต่อมาได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ณ สวนลุมพินีวัน
ซึ่งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล)
๒.เป็นวันตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ณ
ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ (ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองพุทธคยา
ประเทศอินเดีย) เมื่อวันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี คือ
หลังจากที่เสด็จออกผนวชเมื่อพระชนมายุ ๒๙ พรรษา ได้ทรงบำเพ็ญเพียรอย่างหนักเป็นระยะเวลา
๖ ปี จนตรัสรู้เมื่อมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา (พุทธศักราชนับตั้งแต่พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพาน
เป็นพ.ศ.๑)
๓.เป็นวันปรินิพพาน หลังจากที่ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจโปรดผู้ควรแนะนำสั่งสอนเพื่อให้บรรลุมรรคผลจนนับไม่ถ้วน
เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง
ณ สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา (ปัจจุบันอยู่ในแคว้นอุตตรประเทศ
ของอินเดีย) รวมสิริพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา
ในเรื่องวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพานนี้ มีบางท่านได้เสนอข้อคิดเห็นว่า
หากจะมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็อาจกล่าวได้ว่า ทั้งสามเหตุการณ์เกิดขึ้นในวัน เวลา
และเดือนเดียวกัน คือวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ปีระกา อันเป็นวันตรัสรู้เลยก็ได้
กล่าวคือ ทันทีที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญเพียรจนได้พระอนุตรสัมโพธิญาณสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
วินาทีนั้นนั่นเองที่พระพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นมาในโลก ถือเป็นการประสูติ และช่วงเวลาดังกล่าว
ก็ยังเป็นวันเวลาแห่งการตรัสรู้หลักธรรมอันเป็นความเป็นจริงแห่งชีวิตด้วย และในขณะเดียวกัน
ณ เวลานั้น พระพุทธองค์ก็ได้ดับกิเลสในตนจนหมดสิ้นถือว่าเป็นภาวะนิพพาน ดังนั้น
การประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานจึงเกิดขึ้นในช่วงวันเวลาเดียวกัน
สำหรับหลักธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับวันประสูติ
ตรัสรู้และปรินิพาน ก็คือ ความกตัญญูรู้คุณ อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท ซึ่งความสำคัญและหลักธรรมในวันวิสาขบูชานี้
ส่วนใหญ่พุทธศาสนิกชนจะทราบกันดีอยู่แล้ว ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
จึงอยากจะขอนำเสนอเรื่องอื่นๆอันได้แก่ สิ่งแรกและสิ่งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล
หรือสมัยที่พระพุทธองค์ยังมีพระชนมชีพอยู่ อันได้แก่
-พระอาจารย์คนแรก เมื่อเสด็จออกผนวช คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นหนึ่งในเจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมีลูกศิษย์ลูกหามากมายขณะนั้น
เจ้าชายสิทธัตถะจึงได้มอบตัวเป็นศิษย์ และศึกษาวิชาความรู้ด้วยความวิริยะ จนสิ้นความรู้อาจารย์
และเห็นว่ามิใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ก็อำลาไปแสวงหาธรรมวิเศษต่อไป
-นางสุชาดา
บุตรสาวคฤหบดีแห่งหมู่บ้านอุรุเวลา ตำบลเสนานิคม เป็นผู้ถวายข้าวมธุปายาส (ข้าวที่หุงกวนด้วยน้ำผึ้งและน้ำนม)
ในวันที่ทรงตรัสรู้ ด้วยเข้าใจว่าเจ้าชายสิทธัตถะที่นั่งสงบอยู่ใต้ต้นไม้ คือรุกขเทวดาที่ช่วยให้นางได้ลูกชายสมปรารถนา
จึงนำข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองไปถวายแก้บน
-นายโสตถิยะ
เป็นพราหมณ์ที่ได้ถวายหญ้าคาจำนวนหนึ่งแก่พระองค์ จึงทรงใช้ปูเป็นอาสนะสำหรับประทับนั่งที่โคนต้นโพธิ์
เมื่อประทับแล้วก็ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า ถ้าเรายังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด
เราจักไม่ลุกขึ้นตราบนั้น แม้ว่าเลือดและเนื้อจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็นและกระดูกก็ตามที
-ตปุสสะและภัลลิกะอุบาสกสองคนแรก ในสัปดาห์ที่ ๔ ที่ทรงตรัสรู้
ทรงประทับอยู่ใต้ต้นเกด มีพ่อค้าต่างเมือง ๒ คนชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ เดินผ่านมาพบพระพุทธเจ้า
เกิดความประทับใจในความสง่างามและถ้อยคำของพระองค์ จึงได้นำข้าวสัตตุก้อน
สัตตุผงไปถวาย พร้อมทั้งขอให้พระองค์รับเป็นสาวกผู้นับถือพระพุทธองค์ สองคนนี้จึงนับเป็นอุบาสกสองคนแรกในโลก
ที่ถึงสรณะ ๒ คือพระพุทธและพระธรรม ส่วนบิดาของพระยสะเป็นอุบาสกคนแรกที่ถึงสรณะครบ
๓ คือ พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ส่วนอุบาสิกาคนแรก คือ มารดาและภริยาของพระยสะ
-ปฐมเทศนาที่ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ณ
ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ชื่อว่า ธัมจักกัปปวัตตนสูตร หรือเรียกสั้นๆว่า ธรรมจักร ซึ่งหมายถึง พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป
อันมีใจความย่อว่า บรรพชิตผู้ประสงค์จะบรรลุธรรมต้องไม่ปฏิบัติสุดโต่ง ๒ อย่างคือ ทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ
กับหมกมุ่นกับการแสวงหาความสุข ควรดำเนินตามหลักอริยมรรค ๘ คือทางสายกลาง
-ขณะที่ทรงแสดงธรรมอยู่นั้น พระโกณฑัญญะ ก็เกิด ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จพระอรหันต์
เป็นพระพุทธสาวกองค์แรกในพุทธศาสนา
-เวฬุวันวิหาร
เป็นสวนไผ่ที่พระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์
ได้ถวายเพื่อให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ถือเป็นวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนา
-พระอัครสาวก ขณะที่ประทับอยู่เวฬุวันนี้
พระพุทธองค์ได้อัครสาวกสำคัญ ๒ องค์คือ พระสารีบุตร เป็นอัครสาวกเบื้องขวาที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศในทางมีปัญญามาก
และพระโมคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้ายที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศในทางฤทธิ์ ซึ่งทั้งสององค์เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการช่วยประกาศพุทธศาสนา
-พระราหุลกุมาร ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะกับพระนางยโสธรา
ได้บวชเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา โดยพระสารีบุตรเป็นผู้บวชให้ และเป็นเหตุให้พระเจ้าสุทโธทนะ(ปู่)ทูลขอร้องต่อพระพุทธเจ้าว่า
ต่อไปถ้าจะบวชใคร ขอให้ได้รับอนุญาตจากพ่อแม่เขาเสียก่อน
พระองค์ก็ทรงรับตามที่พุทธบิดาทรงขอ เนื่องจากตอนบวชพระราหุล
ทรงให้บวชโดยไม่ได้ขออนุญาต ทำให้พระเจ้าสุทโธทนะเสียพระทัยมาก
เพราะลูกหลานออกบวชเกือบหมด ไม่มีใครอยู่สืบราชสมบัติ
-พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระแม่น้าของพระพุทธเจ้าได้ออกบวชเป็นภิกษุณีองค์แรกในพุทธศาสนา
ซึ่งตอนแรกพระองค์ไม่ประสงค์จะให้สตรีออกบวช แต่พระนางก็ไม่ละความพยายาม จนในที่สุดพระอานนท์ได้กราบทูลขอร้อง
จึงทรงอนุญาต แต่ทรงวางเงื่อนไขว่าจะบวชได้ต้องปฏิบัติครุธรรม อันหมายถึง
ข้อปฏิบัติอันเคร่งครัด ๘ ประการ เช่น ภิกษุณีแม้บวชมาร้อยพรรษา
ก็ต้องไหว้พระภิกษุที่แม้เพิ่งบวชวันเดียว เป็นต้น ซึ่งพระนางก็ยินยอมปฏิบัติ
-พระกระยาหารมื้อสุดท้าย เมื่อทรงปลงอายุสังขารในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน ๓) ขณะทรงพระชนมายุ ๘๐
พรรษาแล้ว ได้เสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินารา ระหว่างทางได้เสด็จประทับพักผ่อนที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ
กัมมารบุตร ซึ่งนายจุนทะก็ได้ถวายอาหารปรุงพิเศษที่ชื่อว่า สูกรมัททวะ หลังจากเสวยภัตตาหารดังกล่าวแล้ว
พระโรคได้กำเริบจนกระทั่งลงพระโลหิต แต่ทรงข่มทุกขเวทนาไว้
และเสด็จต่อไปยังเมืองกุสินารา จากนั้นก็ไม่ได้เสวยอาหารอื่นอีก
-ปัจฉิมสาวก
สุภัททะปริพาชก(นักบวชนอกพุทธศาสนานิกายหนึ่ง)ทราบว่าพระพุทธองค์กำลังจะปรินิพพานก็รีบไปขอเฝ้าเพื่อถามปัญหาขัดข้องใจของตน
พระอานนท์ปฏิเสธ แต่เขาก็ยืนกราน จนพระพุทธเจ้าได้ยินการโต้ตอบกัน จึงมีพุทธบัญชาให้เฝ้าได้
เขาก็ได้ทูลถามปัญหาต่างๆจนเกิดความเลื่อมใสขอบวช พระองค์ก็บวชให้
ถือเป็นพุทธสาวกองค์สุดท้ายของพระพุทธเจ้า
-ปัจฉิมโอวาท
ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานใต้ต้นรังคู่ ณ
สาลวันอุทยาน ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ได้ตรัสปัจฉิมโอวาทไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม
และความสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำประโยชน์แก่ตนและประโยชน์แก่คนอื่นด้วยความไม่ประมาทเถิด
ข้อมูลจาก
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม